เปิดใจ “คุณวรวุฒิ กาญจนกูล ประธานบริหาร บริษัท ดับบลิวเฮ้าส์ จำกัด และ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ” กับภารกิจ 3 ปี ขับเคลื่อนสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association :HBA) เติบโตอย่างแข็งแกร่งบนเส้นทางความท้าทายรอบด้าน เศรษฐกิจผันผวน สถานการณ์โควิด-19 ต้นทุนการทำธุรกิจพุ่ง และวิถีชีวิตผู้บริโภคเปลี่ยน
ตลอด 3 ปี (2563 – 2565) ของการขับเคลื่อนภารกิจนายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน “” ที่เดินหน้าผลักดันธุรกิจรับสร้างบ้านให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งใน 3 แนวทางหลัก “ 2 สร้าง” และ “ 1 พัฒนา” ได้แก่ สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค สร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกพัฒนาสินค้าบริการและบุคลากร และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
เส้นทาง 3 ปีกับ 3 ก้าวที่เติบโต
“การทำงานในบทบาทนายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน แต่ละปีจะมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รับกระแสเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” นายวรวุฒิ กล่าว
“สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค” ที่ผ่านมาได้สร้างการรับรู้ในบทบาทของสมาคมฯ และสร้างการยอมรับในมาตรฐานวิชาชีพ มาอย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2022 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม – 3 เมษายน 2565 โดยมียอดผู้เข้าชมงาน 10,000 คน และเม็ดเงินสะพัดกว่า 3,600 ล้านบาท งาน Home Builder Expert ครั้งที่ 5 (HBEX#5) หัวข้อ เรียนรู้ประสบการณ์สร้างบ้านอย่างมืออาชีพโดยจัดหลักสูตรอบรม 4 วันเต็มให้กับผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านโดยเฉพาะที่จะมาเรียนรู้เทคนิคการทำธุรกิจ ในวันศุกร์ที่ 9 – วันเสาร์ที่ 10 และวันศุกร์ที่ 16 – วันเสาร์ที่ 17 กันยายน 2565
รวมทั้งการจัดงานรับสร้างบ้านและวัสดุ EXPO 2022 ที่เตรียม จัดขึ้นวันที่ 14-18 กันยายน 2565 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 18 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค อาคาร 6 เมืองทองธานี โดยในงานจัดแสดงสินค้าแบบครบวงจร แบบบ้านใหม่จากบริษัทรับสร้างบ้าน พร้อมโปรโมชั่นพิเศษ สินเชื่อพิเศษจากสถาบันการเงิน และมุมหนังสือรวมแบบบ้านสวย ๆ สำหรับผู้ที่สนใจปลูกสร้างบ้าน นิสิตนักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป
อีกส่วนของงานในภารกิจ 3 ปีก็คือ “สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างคุณค่า” การพัฒนาความร่วมมือระหว่างสมาชิกบริษัทรับสร้างบ้านในการยกระดับบริการและแบบบ้านที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น แบบบ้านประหยัดพลังงาน ขณะเดียวกันก็ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกเพื่อสร้างคุณค่าให้กับผู้บริโภคและสังคมด้วย โดยได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมการออกแบบการสร้างและการจำหน่ายบ้านประหยัดพลังงานขึ้นในไทย กับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด
“การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นสร้างความรู้และพัฒนานวัตกรรมใหม่ เช่น บ้านผู้สูงอายุ รวมทั้งการสร้างทักษะให้กับบุคลากรผ่านการอบรมสัมมนา และการศึกษาดูงาน
บทพิสูจน์บนความท้าทายรอบด้าน
“ตลาดรับสร้างบ้าน ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงในครึ่งหลังของปี 2565 เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆ” นายวรวุฒิ กล่าว อุปสรรคของการทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด19 ราคาวัสดุก่อสร้างที่ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แรงงานที่ยังขาดแคลน รวมถึงการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่อาจจะมีการปรับในช่วงปลายปีนี้
“ในขณะนี้ราคาวัสดุก่อสร้างเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกโดยรวมยังคงทรงตัว มีเพียงราคาปูนซิเมนต์ และผลิตภัณฑ์คอนกรีตที่ยังมีแนวโน้มปรับราคาขึ้น เนื่องจากราคาถ่านหินที่เป็นต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตที่ยังมีราคาสูง ส่วนราคาเหล็กเส้นและอลูมิเนียมอาจมีราคาลดลงบ้าง เนื่องจากความกังวลในเรื่องความถดถอยของเศรษฐกิจโลก และการปิดเมืองของจีนเพื่อป้องกันการระบาดของโควิดระลอกใหม่
อย่างไรก็ดี พบว่าราคาน้ำมันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนทั้งค่าขนส่งและการผลิตสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วยตามภาวะของตลาดโลก ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้ราคาต้นทุนของการก่อสร้างบ้านในครึ่งปีหลังนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับต้นปีแรกประมาณ 3 %”
ปรับตัวรับมือทุกการเปลี่ยนแปลง
การทำงานภายใต้สถานการณ์ผันผวนและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา นายวรวุฒิ บอกถึงการทำงานที่ต้องยืดหยุ่นและปรับตัวรับความท้าทายที่เข้ามา พร้อมกับมองหาโอกาสเติบโตใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาทั้งการขยายจำนวนสมาชิก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีสมาชิกใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด เช่น ภาคอีสานและภาคใต้
“สมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 80% และขยายฐานสมาชิกต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหลักมาจากความต้องการสร้างบ้านเติบโตอย่างมากในต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการนำที่ดินมรดกมาสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัย คาดการณ์ว่าตลาดบ้านสร้างเอง มีมูลค่าประมาณปีละ 2 แสนล้าน ซึ่งเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ในขณะที่ตลาดอสังหาทั้งหมดมีประมาณ 8 แสนล้าน”ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิก 2 ประเภท ได้แก่ บริษัทรับสร้างบ้าน 72 บริษัท และบริษัทวัสดุก่อสร้าง 64 บริษัท รวมเป็น 136 บริษัท
ต่อจิ๊กซอว์ความสำเร็จ
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 หลายบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านสามารถทำยอดขายในช่วงครึ่งปีแรกได้ถึงเป้าหมายของทั้งปี “จากความต้องการของผู้ที่ต้องการสร้างบ้านที่ไม่ได้ลดลง ผู้ที่มีความพร้อมก็ยังเดินหน้าปลูกสร้างบ้านเพราะหากสร้างล่าช้าออกไปก็จะทำให้ราคาบ้านสูงขึ้นไปอีก ซึ่งประเมินว่าตลาดรวมรับสร้างบ้านในครึ่งปีหลังน่าจะยังไปได้ดี โดยมูลค่าตลาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนใหญ่จะอยู่ในบ้านกลุ่ม 5-10 ล้านบาทเป็นหลัก และตามด้วยกลุ่มบ้านหรูที่อยู่ในระดับ 10 ล้านขึ้นไป ทำให้คาดว่าทั้งปี 2565 ตลาดรับสร้างบ้านในกลุ่มสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน น่าจะเติบโตมากกว่าปี 2564”
โดยสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เป็นแหล่งให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างบ้าน รายชื่อบริษัทที่ให้บริการ ข้อมูลการขอสินเชื่อ บ้านประหยัดพลังงาน และข้อมูลรอบด้าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจสร้างบ้าน ผ่านเว็บไซต์ของสมาคมฯ https://hba-th.org/
ขอบคุณที่มา : https://www.matichon.co.th/publicize/news_3511214