สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เผยภาพรวมตลาดปี 65 ขยายตัวเกินเป้าหลังลูกค้าตลาดบนเร่งตัดสินใจสร้างบ้านหนีต้นทุนบ้านใหม่ ล่าสุด ประกาศจับมือคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ จัดทำ “มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย” ยกระดับคุณภาพบริการรับสร้างบ้าน ตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้บริโภค เล็งใช้ภายในสิ้นปี 65 นี้
คุณวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association) หรือ HBA และ ประธานบริหาร บริษัท ดับบลิวเฮ้าส์ จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปีนี้มีการขยายตัวได้ดีเกินเป้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งตัดสินใจสร้างบ้านของกลุ่มลูกค้าตลาดบนระดับราคา 10 บาทขึ้นไป เพื่อหนีต้นทุนก่อสร้างใหม่ จากการปรับตัวของตุ้นทุนวัสดุก่อสร้างซึ่งปรับตัวสูงขึ้นกว่า 25% และต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่กลุ่มตลาดบ้านระดับราคา 2-3 ล้านบาท หดตัวลงจากปัญหากำลังซื้อหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อและการชะลอการตัดสินใจก่อสร้างบ้านในตลาดระดับล่าง คาดว่าในตลาดดังกล่าวจะยังหดตัวต่อเนื่องในปี 66 และจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปี 67 ซึ่งเป็นไปตามภาวะการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ได้รับแรงบวกจากการขยายตัวจากการท่องเที่ยว
จากแนวโน้มดีมานด์บ้านสร้างเองและใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านในปี 65 โดยคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 12,500 ล้านบาท เติบโตขึ้นทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดรับสร้างบ้านที่มีการเติบโตเด่นชัดจากความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาเป็นอย่างมาก
“ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ได้เร่งพัฒนาคุณภาพให้สมาชิกสมาคมฯ เพื่อรับรองการเติบโตของธุรกิจ ผ่านกิจกรรมอบรม เพิ่มความรู้และทักษะต่างๆ ทำให้พบว่าในภาพรวมยังมีปัญหาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของลูกค้าในด้านคุณภาพ และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการพัฒนามาตรฐานก่อสร้างบ้านพักอาศัย ที่จะใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของงานก่อสร้างบ้านต่อจากนี้”
ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนา “มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน” ขึ้นเพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานการทำงานและความเข้าใจด้านคุณภาพที่ตรงกันระหว่าง “บริษัทรับสร้างบ้าน” กับ “ผู้บริโภค” โดยได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กับภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งได้รวบรวมพันธมิตรภาคส่วนวิชาการ และภาคเอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมกันศึกษาและดำเนินการจัดทำ “มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย”
นายวรวุฒิ กล่าวว่า ในระยะเวลา 3 ปีของการทำงานพัฒนา “มาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน” นั้น ทั้งสมาคมฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้ามาร่วมพัฒนามาตรฐานการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพของการก่อสร้างบ้านให้มีมาตรฐานที่เหมาะสมกับงานก่อสร้างบ้าน โดยศึกษาปัญหาของงานก่อสร้างบ้านจากกรณีศึกษาของสมาชิกสมาคม จากนั้นนำเข้าสู่กระบวนการรวบรวมรูปแบบมาตรฐานการควบคุมงานก่อสร้าง และมาตรฐานการทำงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ด้าน รศ.ดร.ธนิต ธงทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในฐานะที่ปรึกษาการพัฒนา ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้านจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการทำงาน เพื่อช่วยให้ผู้รับเหมาสามารถพัฒนากระบวนการทำงานและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากงานบ้านเป็นงานฝีมือและจำเป็นต้องใช้ทักษะ รวมทั้งการบริหารจัดการในการทำให้งานก่อสร้างบ้านมีคุณภาพให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของโครงการ นอกจากนี้ มาตรฐานดังกล่าวยังช่วยให้เจ้าของโครงการมีความเชื่อมั่นในการทำงานของผู้รับเหมารับสร้างบ้าน
ขอบคุณที่มา : https://mgronline.com/stockmarket/detail/9650000101986