ส.รับสร้างบ้านจับมือวิศวะจุฬาฯ เข็นมาตรฐานสร้างบ้านครั้งแรกของไทย
คุณวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน และ ประธานบริหาร บริษัท ดับบลิวเฮ้าส์ จำกัด เปิดเผยว่าปี 2565 แม่มีปัจจัยลบทั้งดอกเบี้ยขาขึ้น และราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับขึ้นตั้แต่ต้นปี 20-25% แต่บ้านสร้างเองในกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัดในระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป เป็นกลุ่มที่ผลักดันการเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านของสมาคมฯ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสมาคมมีสมาชิกต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาษีที่ดินฯ ก็เป็นตัวเร่งให้เจ้าของที่ดินซึ่งมีความพร้อมทางการเงินอยู่แล้วให้สร้างบ้านเร็วขึ้น ประกอบกับหากชะลอการตัดสินใจราคาอาจแพงขึ้นด้วย ทำให้ในปีนี้คาดว่ามูลค่าตลาดสร้างบ้านผ่านสมาชิกของสมาคมฯ น่าจะมากกว่า 13,000 ล้านบาท สูงกว่าต้นปีที่คาดว่าจะมีมูลค่าเพียง 12,000 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มปี 2566 จากเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา ในขณะที่เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวปีหน้าที่ 20 ล้านคน ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่า จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจส่งออกดีขึ้นทำให้คาดหวังว่าตลาดรวมจะยังคงใกล้เคียงปีนี้ที่ 13,000 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากภาพรวมตลาดสร้างบ้านเองทั่วประเทศอยู่ที่ปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งปัญหาหลักที่ผู้บริโภคสร้างบ้านมักจะพบคือ ผู้รับเหมาทิ้งงาน และหรือสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน ทำให้สมาคมฯ ได้เร่งพัฒนาคุณภาพให้กับบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นแนวคิดการพัฒนามาตรฐานก่อสร้างบ้านพักอาศัย ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยมี โดยสมาคมฯ ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคณะทำงานจัดทำมาตรฐานตั้งแต่ปี 2563 เพื่อยกระดับมาตรฐานรับสร้างบ้าน และส่งเสริมความยั่งยืนให้กับธุรกิจรับสร้างบ้านของไทย
ล่าสุดพร้อมแล้วที่จะเปิดตัว “มาตรฐานงานก่อสร้างบ้านพักอาศัย” ครั้งแรกในไทย ซึ่งจะมีการระบุข้อมูลของผู้ดำเนินการและหน้าที่ความรับผิดชอบ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร ขั้นตอนการทำงาน การตรวจสอบคุณภาพ การปรับปรุงแก้ไข และข้อควรระวัง เป็นต้น
โดยเตรียมประกาศใช้ภายในสิ้นปีนี้ เบื้องต้นจะใช้สำหรับสมาชิกของสมาคมฯ ก่อน ภายในต้นปี 2566 และ ต้องการให้เป็นมาตรฐานการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั่วประเทศด้วย เพื่อยกระดับมาตรฐานบริษัทรับสร้างบ้านไม่เพียงสมาชิกของสมาคม แต่รวมถึงรับสร้างบ้านทั่วประเทศด้วย ซึ่งจะส่งผลดีในหลายฝ่ายด้วยกัน ทั้งบริษัทรับสร้างบ้าน ผู้บริโภค และอุตสาหกรรมก่อสร้างในภาพรวม ขณะเดียวกันการก่อสร้างตามมาตรฐานดังกล่าวจะมีผลทำให้ค่าก่อสร้างสูงขึ้นน้อยมาก หรือในหลักพันบาทเท่านั้น
ทางด้านนายธนิต ธงทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในฐานะที่ปรึกษาการพัฒนา ว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้านจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการทำงาน เพื่อช่วยให้ผู้รับเหมาสามารถพัฒนากระบวนการทำงานและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากงานบ้านเป็นงานฝีมือและจำเป็นต้องใช้ทักษะ รวมทั้งการบริหารจัดการในการทำให้งานก่อสร้างบ้านมีคุณภาพให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของโครงการ นอกจากนี้มาตรฐานดังกล่าวยังช่วยให้เจ้าของโครงการมีความเชื่อมั่นในการทำงานของผู้รับเหมารับสร้างบ้าน โดยงานขั้นตอนกิจกรรมงานก่อสร้างที่สำคัญที่บรรจุอยู่ในมาตรฐานการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยงานเตรียมการ งานดินและงานเข็ม งานคอนกรีต งานก่อ งานโลหะ งานฉนวนกันความร้อน และความชื้น งานประตูหน้าต่าง งานตกแต่งผิว งานระบบท่อ และงานระบบไฟฟ้า
ขอบคุณที่มา : https://www.khaosod.co.th/economics/house-condo/news_7332610